โครงการเยาวชนท้องถิ่น ตระหนักรู้ รักษาป่า

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่เผชิญกับปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองหมอกควัน PM 2.5 เป็นอย่างหนักในทุก ๆ ปี อันเนื่องจากการบุกรุกป่า ทั้งการล่าสัตว์ และการเผาป่าเพื่อหาของป่าในการเลี้ยงชีพและบริโภค ทำให้เกิดไฟลามลุกไหม้ออกไปเป็นบริเวณกว้าง จึงทำให้ปัญหาไฟป่ายังเกิดขึ้นต่อเนื่องและส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองหมอกควัน PM 2.5 ซึ่งในพื้นที่บ้านกล้วยแพะ มักประสบเกิดปัญหาไฟป่าอยู่เป็นประจำส่งผลกระทบทางสภาพแวดล้อมทั้งทางมลพิษและในการใช้ชีวิตของคนในชุมชน

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นการทดแทนรายได้จากการหาของป่าและลดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้
  2. เพื่อให้เด็กเยาวชนและคนในชุมชนเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้และระบบนิเวศ
  3. เพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่าและลดปัญหาฝุ่นละอองหมอกควัน PM 2.5 และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในป่าให้มากยิ่งขึ้น

การดำเนินการแก้ไขปัญหา ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ชมรม LPRU สืบสานปณิธานงานของพ่อร่วมกับ 3 พื้นที่ป่าชุมชน ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านหัวฝาย ตำบลกล้วยแพะ 2.ชุมชนบ้านโทกหัวช้าง ตำบลพระบาท 3.ชุมชนบ้านหัวทุ่งสามัคคี ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ดำเนินการทำกิจกรรมการเพาะเห็ดป่าคืนถิ่นและป้องกันปัญหาไฟป่า การทำแนวกันไฟรวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสาร เพื่อป้องกันการเผาป่าโดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางและหน่วยงานภาครัฐ ให้ดำเนินการ ดังนี้ 1)การเพาะเห็ดป่าคืนถิ่น 2)การป้องกันปัญหาไฟป่า โดยการทำแนวกันไฟ รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์ข่าวป้องกันการเผาป่า

ผลกระทบการดำเนินโครงการ

เศรษฐกิจ

จัดตั้งศูนย์เพาะเห็ดเงินล้านเป็นศูนย์ส่งเสริมการเพาะเห็ด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนสร้าง Food bank ในพื้นที่ 114 ไร่ คนในชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการเพาะเห็ดป่าคืนถิ่นไว้ขายและสามารถนำมาประกอบอาหารในครัวเรือนได้ ชุมชนสามารถนำองค์ความรู้สร้างอาชีพและยังเป็นการอนุรักษฺทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน

สังคม

เกิดการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานของภาครัฐเพื่อต่อยอดกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไปอีกได้ในอนาคต ชาวบ้านเปลี่ยนแนวคิดความเชื่อว่าการเผานั้นไม่สร้างคุณประโยชน์ต่อทั้งตัวชาวบ้านเองและสังคมเยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ

สิ่งแวดล้อม

จำนวนการเผาป่าลดน้อยลงชาวบ้านลดการเข้าป่าเพื่อเผาป่าหาเห็ดเปลี่ยนมาเป็นใช้หัวเชื้อเพราะเห็ดไว้ปลูกบริเวณบ้านเรือนของตน ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การใช้สารเคมีกับต้นไม้ลดลงเพราะต้นไม้ที่หยอดเชื้อเห็ดป่านั้นจะต้องไม่ใช้สารเคมีและไม่มีการเผาไหม้ของต้นไม้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนทั้ง 3 แห่งนั้นช่วยกันดูแลและสอดส่องต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่ พื้นที่ป่าชุมชนได้รับการดูแลและป้องกันการเกิดปัญหาไฟป่ามากขึ้น ลดปัญหาการเกิดไฟป่าและปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ในพื้นที่ดอยพระบาท

สมาชิกทีม

เรียงจากซ้ายไปขวา

  1. นางสาวบุญญาดา มูลผึ้ง
  2. นายเอกอาทิตย์ ตาใจ
  3. นางสาวอรวรรณ เพชรโกษาชาติ
แชร์ข่าวสาร :